Category Archives: ฟาร์มมหาวิทยาลัย

ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่สร้างรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล

IMG_1847
ฟาร์มกุ้ง เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หากทำแล้วประสบความสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับผู้เลี้ยง แต่ก่อนที่ผู้เลี้ยงจะลงทุนดำเนินธุรกิจในฟาร์มกุ้ง ควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกุ้งหรือประสบการณ์ในการเลี้ยงกุ้งพอสมควร และสิ่งสำคัญต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการเลี้ยง รวมถึงมองเห็นสาเหตุและวิธีแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับผลเสียหาย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยเริ่มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาเพียงชนิดเดียว จากประสบการณ์เลี้ยงกุ้งของประเทศไทยทำให้มีองค์ความรู้ในการจัดการเลี้ยงกุ้งมากมาย

อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศทำเงินรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือโรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ผู้ผลิตอาหารและปัจจัยต่างๆในการผลิต จนถึงห้องเย็นหรือโรงงานแปรรูป แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมากประสบปัญหาการขาดทุนและเลิกกิจการในช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในระยะเวลาตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นกุ้งที่มีการเลี้ยงและมีผลผลิตออกมามากจากทั่วโลก ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาตกต่ำในขณะที่ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นจากวิกฤตราคาน้ำมันและอาหารกุ้งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ที่สุดจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่จะทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยมั่นคงและยั่งยืน

กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก ผลผลิตส่วนใหญ่ 80% ใช้เพื่อการส่งออก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก การเลี้ยงกุ้งนับเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย อาทิเช่น โรงเพาะฟักกุ้ง โรงงานที่ผลิตอาหารกุ้ง บริษัทยาและสารเคมีที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง แพจับกุ้ง โรงงานแปรรูป (ห้องเย็น) จึงนับเป็นอาชีพที่มีการกระจายรายได้ไปสู่คนในสังคมในวงกว้าง จึงนับเป็นอาชีพที่มีการกระจายรายได้ในสังคมในวงกว้าง และมีคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้หลายแสนคน

การลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าให้ได้ผลดี

1367569280
ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้ คือ การทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง ขนาดของฟาร์มที่ทำเป็นอาชีพมักมีขนาดใหญ่แบบครบวงจรหรือไม่ครบวงจร ซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณของเจ้าของว่ามีความสามารถเพียงใด เพราะก่อนที่จะทำการเลี้ยงสัตว์ชนิดใด จำเป็นจะต้องทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เป็นต้นว่าสถานที่สำหรับทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณนั้นเหมาะสมสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทไหน จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน อาหารที่จะใช้เลี้ยงสัตว์น้ำนั้นหาง่ายหรือหายาก ตลาดทั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างไร ราคาที่ขายกันตามท้องตลาดสูงต่ำแค่ไหน การลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์หรือลูกพันธุ์มาเลี้ยง ตลอดจนอุปนิสัยของสัตว์น้ำแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น

สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาเป็นอาหารโปรตีนที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดี ราคาถูก ในกลุ่มประเทศแถบเอเซียโดยเฉพาะประเทศไทย ปลาเป็นอาหารคู่กับข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบันสัตว์น้ำยังเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านบาท ในอดีตแหล่งน้ำในธรรมชาติ คือ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หนองบึง หรือในทะเลมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมดีและประชากรก็มีไม่มาก แต่ในปัจจุบันการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย การจำกัดพื้นที่ทำการประมง ประกอบกับประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาศัยสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงมีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในด้านอาหารและด้านเศรษฐกิจ

การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าให้เกิดผลสำเร็จและพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการวางแผน การสั่งการ การควบคุม และการประเมินผลเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ การจัดการที่ดีนั้นนอกจากจะต้องเริ่มต้นด้วยการวางแผนที่ดีแล้ว จำเป็นจะต้องใช้ดุลพินิจในการใช้ทรัพยากรทุกอย่างรวมทั้งบุคลากร ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อทำกำไรหรือหารายได้ให้ได้สูงสุด นอกจากนี้จะต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตเพื่อสามารถแข่งขันในเชิงการค้ากับผู้อื่นในด้านตลาดได้ ควรเริ่มต้นจากการตลาดเพื่อจะได้ทราบว่าจะลงทุนเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดไหนที่ตลาดยังมีความต้องการ เมื่อเลือกชนิดของสัตว์น้ำได้แล้วขั้นต่อไปก็คือการวางแผนในการผลิตให้เหมาะสม เงินลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ ตลอดจนการบริหารงานฟาร์มโดยทั่วๆไป

วัตถุประสงค์ของการจัดทำมาตรฐานฟาร์มสัตว์น้ำ

1.เพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันและมีคุณภาพ
2.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
3.เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งออก
4.เพื่อลดมลภาวะจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
5.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

การลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ได้กำไร

การเลี้ยงสัตว์เพื่อธุรกิจการค้าแบบเต็มรูปแบบ คือเลี้ยงตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนจบขั้นตอนสุดท้ายในที่เดียว ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เมื่อกำเนิดลูกสุกรออกมาก็นำเลี้ยงขุนต่อเพื่อให้ได้ขนาดน้ำหนักที่พร้อมส่งตลาดต่อไป การเลี้ยงแบบครบวงจรนี้ก็มีข้อดีสำหรับผู้เลี้ยงคือ พึ่งพาตนเองทุกอย่างโดยไม่มีปัญหาเดือดร้อนที่ต้องดิ้นรนหาลูกสุกรจากฟาร์มอื่นๆเข้ามาเลี้ยงขุนต่อ ทั้งยังมั่นใจได้ว่าลูกสุกรที่ผลิ้ตเองภายในฟาร์มนั้นมีความปลอดภัยจากโรคอย่างแท้จริง ส่วนข้อเสียของการเลี้ยงระบบนี้คือ ค่าใช้จ่ายสูงและมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนค่อนข้างมากในการดูแลและดำเนินการต่างๆ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องวางแผนการดำเนินการหรือระบบการบริหารงานต่างๆให้ดี ถูกต้อง ตามขั้นตอน และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

การเลี้ยงสุกรก็เหมือนกับธุรกิจประเภทอื่นคือ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำการผลิตด้วยต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่บางครั้งผู้เลี้ยงสุกรยังไม่เข้าใจถึงวิธีการที่จะคิดต้นทุนการผลิตสุกรโดยมีรายการค่าใช้จ่ายที่สำคัญประกอบกันหลายอย่าง มีทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด แต่ก็สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ ดังนั้นบางครั้งผู้เลี้ยงสุกรคิดว่าธุรกิจของตนเองมีกำไร แต่แท้ที่จริงกำไรนั้นอาจเป็นเพียงผลตอบแทนที่เป็นค่าแรงงานของผู้เลี้ยงเองเท่านั้น หรืออาจจะเป็นการขาดทุนก็ได้เมื่อนำรายได้มาหักลบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้เพราะบางครั้งผู้เลี้ยงจะมองข้ามค่าแรงงานของตนเอง ค่าโรงเรือน คอก และอุปกรณ์ที่ได้สร้างขึ้นมาก่อน จึงทำให้ต้นทุนที่ผู้เลี้ยงประเมินขึ้นมาต่ำกว่าความเป็นจริง

ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเลี้ยงสุกรได้ทั้งแบบเป็นฟาร์มขนาดเล็ก,ฟาร์มขนาดใหญ่ เนื่องด้วยการเลี้ยงสุกรนั้นใช้พื้นที่ไม่มากแถมยังมีการเลี้ยงที่ง่ายและไม่สับซ้อนจนเกินไป การเลี้ยงหมูก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก การเลี้ยงดูตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์มีการศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่เดิมหมูให้ลูกได้ปีละหนึ่งครั้ง ลูกที่ให้แต่ละครั้งก็ไม่แน่นอน บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็มาก ครั้งใดที่ให้ลูกมากอัตราการตายของลูกก็จะสูง ลูกที่คลอดออกมาแล้วต้องใช้เวลาเลี้ยงนานนับปี จึงส่งขายได้ ส่วนปัจจุบันหมูสามารถให้ลูกได้ถึง ๕ ครอกใน ระยะเวลา ๒ ปี แต่ละครอกมีลูกหมูหลายตัว อัตราการเลี้ยงให้อยู่รอดก็สูง ลูกหมูหลังคลอดใช้ระยะเวลาเลี้ยงไปจนถึงน้ำหนักส่งตลาดเพียง ๕ เดือนกว่าเท่านั้น

เนื่องจากสุกรนั้นสามารถให้ผลิตภัณฑ์เนื้อในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่เนื้อสุกร เนื้อสามชั้น ( เบคอน ) เนื้อสะโพก ( แฮม ) เครื่องใน จนกระทั่งหนังสุกร เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีส่วนใดในร่างกายสุกรสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ระบบการผลิตสุกรก็จะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการผลิตสุกรก็จะเป็นการขุนสุกร หรือมีการผลิตลูกสุกรขายเพื่อนำไปขุนหรือบางฟาร์มก็อาจจะทำการเลี้ยงสุกรพันธุ์เพื่อผลิตพ่อแม่ขาย บางฟาร์มก็อาจจะทำหมดทุกวัตถุประสงค์ทั้งผลิตพ่อแม่พันธุ์ ผลิตลูกสุกรและทำการขุนสุกรไปพร้อมๆกัน

เทคโนโลยีชีวภาพที่มีการใช้เพื่อการเกษตร


เทคโนโลยีชีวภาพ คือการใช้เทคนิค หรือกระบวนการต่างในการนำสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการแพทย์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพนี้ได้มีความเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ ชีววิทยา จุลชีววิทยา พันธุศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

หากมองกันอย่างเป็นกลางแล้วจะเห็นได้ว่าบ้านเราเองมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ติดต่อกับโลกตะวันตกด้วยซ้ำไป เช่นการทำน้ำปลา การทำซีอิ้ว การหมักปลาร้า การหมักเหล้า สาโท และกระแช่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิมทั้งสิ้น แต่ไม่ได้มีการอธิบายให้มีความกระจ่างในแง่วิชาการหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้มีความเข้าใจกันก็เท่านั้น
ทคโนโลยีชีวภาพกับการเกษตร

เทคโนโลยีชีวภาพที่มีการใช้เพื่อการเกษตรมีหลากหลายชนิดที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความต้านทานต่อศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมของภูมิประเทศ เช่นความแห้งแล้ง อุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคเพื่อการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการขยายพันธุ์กล้วยไม้ การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการปักแชกันให้ยาวนานขึ้นและมีกลิ่นหอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การขยายพันธุ์โคนมที่ให้น้ำนมสูงโดยการปฏิสนธิในหลอดแก้ว และการย้ายฝากตัวอ่อน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรที่มีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับการเกษตรด้านที่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้มีการนำเอาจุลินทรีย์เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช หรือกระทั่งการใช้เชื้อจุลินทรีย์มาใช้สำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่นแบคทีเรียบีที หรือไวรัสเอ็นพีวี

ในภาพรวมของนาโนเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
– ข้าว นาโนเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะที่ดีตรงตามความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่นคุณภาพการหุงต้น หอม ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ทนต่อน้ำท่วม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
-การเพาะเลี้ยงกุ้งและการประมง การที่กุ้งแช่แข็งมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการส่งออกของประเทศไทย ทำรายได้ให้ไม่ต่ำหว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่เพราะปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสทำให้มีความสูญเสียผลผลิต ดังนั้นจึงมีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และยังค้นพบวิธีการสร้างฟองอากาศนาโนที่มีความคงตัวสูง แตกตัวได้ยาก เก็บกักโอโซฯไว้ได้นาน ทำให้เป็นแหล่งออกซิเจนให้กับสัตว์น้ำ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออุตสาหกรรมประมงต่อไปได้
– ยางพารา เนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกนั้นมีความต้องการที่สูง แต่อาจจะมีการลดลงได้ หากอุตสาหกรรมหันไปให้ความสนใจกับยางเทียม ซึ่งประเทศที่ส่งออกยางธรรมชาติจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน  ในประเทศไทยจึงได้มีการเพิ่มมูลค่าของยางธรรมชาติโดยใช้นาโนเทคโนโลยี ได้แก่ การสร้างถุงมือยางธรรมชาติที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้โดยการบรรจุนาโนแคปซูลของยาฆ่าเชื้อไว้ในเนื้อถุงมือยาง
– การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ปัญหาดินเค็มมากกว่า 17 ล้านไร่ใน 17 จังหวัดที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตลดลง 2-3 เท่า  จึงได้มีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาปรับปรุงสภาพดินเค็มโดยการนำสารละลายคาร์โบเนียมที่สังเคราะห์ขึ้นโดยนาโนเทคโนโลยีไปฉีดพ่นที่ดิน จะเกิดปฏิกิริยาดูดซับเกลือออกจากดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น pH เปลี่ยนเป็นกลางเหมาะกับการปลูกพืช รวมทั้งอาจจะสามารถใช้นาโนเทคโนโลยีในการใช้การเกษตรแบบควบคุมสภาวะแวดล้อมที่มีระบบการตรวจวัดสภาพของพืชผลที่ดี ทำให้สามารถประเมินลักษณะของพืชผล และสามารถบริหารจัดการพืชปลูกจนประสบความสำเร็จนั่นเอง
– ปศุสัตว์ มีการติดตั้งนาโนไบโอเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับเชื้อแบคทีเรียที่โรคในนมไว้กับเครื่องรีดนมวัว ทำให้สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคในน้ำนมดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– การเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตร มีการย่อยสลายวัสดุที่เหลือใช้ในการเกษตรให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นอนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถปรับแต่งรสชาติให้เหมือนไขมัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนไขมันในอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

ระบบและการจัดการฟาร์ม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจบริการด้านการเกษตร


นวัตกรรมเกษตร การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยต่างๆ เข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล โดยใช้ข้อมูลของต้นพืช สภาพแวดล้อมของฟาร์ม และฐานข้อมูลด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย มาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการตัดสินใจปรับปัจจัยการผลิตและการดูแลรักษาต้นพืชอย่างพอเหมาะ รวมถึงการจัดการผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพเอาไว้ให้นานที่สุด

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลิตผลเกษตรที่สำคัญของโลก แต่ด้วยเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้เกษตรกรของไทยยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน ขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ชุมชนเมืองที่ขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปัญหาโลกร้อน รวมทั้งความต้องการผลิตผลเกษตรเพื่อแปลงเป็นพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมยิ่งไม่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการได้ และความพยายามในการเพิ่มผลผลิตด้วยวิธีเดิมๆ กลับทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผลิตผลเกษตรจำนวนมากยังคงสูญเสียไปตั้งแต่เก็บเกี่ยวตลอดเส้นทางไปสู่ผู้บริโภคหรือสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีพอ นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมในเมือง และเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจร นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะมีบทบาทมากขึ้นและถือว่าเป็นเกษตรกรรมของอนาคตอย่างแท้จริง นวัตกรรมเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป

การจัดการฟาร์มอัจฉริยะ สร้างทักษะการวางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเหมาะสม โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลการเกษตรจากระยะใกล้ (ในฟาร์ม) และระยะไกล (ด้วยอากาศยานและดาวเทียม) สถานีตรวจอากาศ ระบบ GPS และ GIS เพื่อสร้างข้อมูลฟาร์ม ระบบสื่อสารและโครงข่ายข้อมูลการเกษตรแบบไร้สายภายในฟาร์ม ระบบประมวลผลและวิเคราะห์ภาพถ่ายต้นพืชและดินเพื่อแปลงเป็นข้อมูลการเกษตร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ (แทบเล็ต สมาร์ทโฟน) และซอฟแวร์ เพื่อตัดสินใจและควบคุมการปลูกพืช เครื่องจักรกลเกษตรที่มีความแม่นยำสูง

การจัดการผลิตผลเกษตร สร้างความเป็นนักธุรกิจเกษตรโดยเฉพาะ เช่น การจัดการและพัฒนาธุรกิจเกษตร ระบบสารสนเทศในธุรกิจเกษตร การจัดการผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวขั้นสูงและการบรรจุหีบห่อผลิตผลเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานเพื่อการจัดหาและขนส่งผลิตผล กฎหมายและมาตรฐานผลิตผลสดเพื่อการค้าและส่งออก